วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท เรื่องลิงตัวเมีย

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑
ตอนที่ ๑
พระวินัยปิฎก เล่ม ๑
มหาวิภังค์ ปฐมภาค

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท

 เรื่องลิงตัวเมีย
      [๒๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเอาเหยื่อล่อลิงตัวเมียในป่ามหาวัน เขตพระนคร
 เวสาลี แล้วเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนั้นเสมอ ครั้นเวลาเช้า ภิกษุนั้นครองอันตรวาสกแล้ว
 ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในพระนครเวสาลี
      ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเที่ยวจาริกตามเสนาสนะ เดินผ่านเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น
 ลิงตัวเมียนั้นแลเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น
 ยกสะเอวบ้าง โก่งหางบ้าง แอ่นตะโพกบ้าง ทำนิมิตบ้าง เบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น จึงภิกษุ
 เหล่านั้นสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าของถิ่นเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนี้แน่ ไม่ต้องสงสัย แล้วแฝง
 อยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่ง.
      เมื่อภิกษุเจ้าของถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครเวสาลี ถือบิณฑบาตกลับมาแล้ว ลิงตัวเมีย
 นั้นได้เข้าไปหา ครั้นภิกษุเจ้าของถิ่นฉันบิณฑบาตนั้นส่วนหนึ่งแล้ว ได้ให้แก่มันส่วนหนึ่ง
 เมื่อมันกินอาหารส่วนนั้นแล้วได้แอ่นตะโพกให้ จึงภิกษุนั้นเสพเมถุนธรรมในมัน.
      ทันใด ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท
 ไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร คุณจึงได้เสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนี้เล่า?
      จริงขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ภิกษุนั้นสารภาพแล้วค้านว่า
 แต่พระบัญญัตินั้นเฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่เกี่ยวถึงสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย.
      อาวุโส พระบัญญัตินั้น ย่อมเป็นเหมือนกันทั้งนั้นมิใช่หรือ? การกระทำของคุณนั่น
 ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คุณไม่บวชในพระธรรม
 วินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์
 บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า.
      อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด
 ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่
 เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความ
 กำหนัด คุณยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อความ
 ประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
      อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่ง
 ราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่ง
 อาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา
 เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ?
      อาวุโส การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การ
 เพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอก
 ไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ?
      อาวุโส การกระทำของคุณนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
 หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั่น เป็นไปเพื่อ
 ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใส
 แล้ว.
      ภิกษุเหล่านั้น ติเตียนภิกษุนั้นโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่
 พระผู้มีพระภาค.
                   ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ ๑
      [๒๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น
 ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรม
 ในลิงตัวเมีย จริงหรือ?
      จริง พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุนั้นทูลสารภาพ?
      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
 ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวไว้ดี
 อย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า.
      ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่
 เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมี
 ความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อ
 มีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความ
 ไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
      ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อ
 เป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย
 เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่
 ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ?
      ดูกรโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม
 การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดย
 อเนกปริยาย มิใช่หรือ?
      ดูกรโมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่า อันองค์
 กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมีย ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่า
 ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่สอดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมีย ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอด
 เข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชน ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมีย
 ไม่ดีเลย.
      ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร?
      เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือความ
 ทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่
 แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้า
 ในองค์กำเนิดของลิงตัวเมียนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
 นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ.
      ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่อง
 ของชาวบ้าน เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่
 อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
 เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว... ๑- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ
 พึงยกสิขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                         พระอนุบัญญัติ ๑
      ๑. อนึ่ง ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็น
 ปาราชิก หาสังวาสมิได้.
      ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ
 ฉะนี้.
                      เรื่องลิงตัวเมีย ๒- จบ.

ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระสุทินน์

ตอนที่ ๑
พระวินัยปิฎก เล่ม ๑
มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท

เรื่องพระสุทินน์

      [๑๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ณ สถานที่ไม่ห่างจากพระนครเวสาลี มีบ้านตำบลหนึ่ง ชื่อ
 กลันทะ ในบ้านนั้นมีบุตรชาวบ้านกลันทะผู้หนึ่ง ชื่อ สุทินน์ เป็นเศรษฐีบุตร ครั้งนั้น สุทินน์
 กลันทบุตรได้เดินธุระบางอย่างในพระนครเวสาลีกับสหายหลายคน ขณะนั้นแล พระผู้มีพระภาค
 อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้วประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุทินน์ กลันทบุตรได้แลเห็นพระผู้มี
 พระภาค อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ เพราะได้เห็น ความตรึกนี้ ได้มี
 แก่เขาว่า ไฉนหนอเราจะพึงได้ฟังธรรมบ้าง แล้วเขาก็เดินผ่านเข้าไปทางบริษัทนั้น ครั้นถึงแล้ว
 นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ความรำพึงนี้ได้มีแก่เขาผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งฉะนี้ว่า ด้วยวิธี
 อย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะ
 ประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำ
 ไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
 ครั้นบริษัทนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วย
 ธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว หลังจากบริษัท
 ลุกไปแล้วไม่นานนัก เขาได้เดินเข้าไปใกล้ที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน
 ข้างหนึ่ง.
      สุทินน์กลันทบุตรนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธ-
 *เจ้าข้า ด้วยวิธีอย่างไรๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยัง
 ครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์
 ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจาก
 เรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
      พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสุทินน์ ก็มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวช
 เป็นบรรพชิตแล้วหรือ?
      สุทินน์กลันทบุตรกราบทูลว่า ยังไม่ได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. ดูกรสุทินน์ พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่บวชบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต.
      สุ. ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำโดยวิธีที่มารดาบิดาจักอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือน
 บวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า.
                        ขออนุญาตออกบวช
      [๑๑] หลังจากนั้นแล สุทินน์กลันทบุตรเสร็จการเดินธุระที่ในพระนครเวสาลีนั้นแล้ว
 กลับสู่กลันทคามเข้าหามารดาบิดา แล้วได้กล่าวคำนี้กะมารดาบิดาว่า ข้าแต่มารดาบิดา ด้วยวิธี
 อย่างไรๆ ลูกจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะ
 ประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำ
 ไม่ได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
 ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด.
      เมื่อสุทินน์กลันทบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาบิดาของเขาได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์
 เจ้าเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยง
 นางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่
 ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนเราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า.
      แม้ครั้งที่สอง สุทินน์กลันทบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะมารดาบิดาว่า ข้าแต่มารดาบิดา ด้วย
 วิธีอย่างไรๆ ลูกจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่
 จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว
 ทำไม่ได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
 ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด.
      แม้ครั้งที่สอง มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร
 คนเดียว เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงม
 มาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน
 เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า.
      แม้ครั้งที่สาม สุทินน์กลันทบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะมารดาบิดาว่า ข้าแต่มารดาบิดา ด้วย
 วิธีอย่างไรๆ ลูกจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่
 จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว
 ทำไม่ได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
 ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด.
      แม้ครั้งที่สาม มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร
 คนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบ
 ประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก
 เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า.
      ทันใดนั้นแล สุทินน์กลันทบุตรแน่ใจว่า มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราออกจากเรือนบวช
 เป็นบรรพชิต จึงนอนลงบนพื้นอันปราศจากเครื่องลาด ณ สถานที่นั้นเอง ด้วยตัดสินใจว่า การ
 ตายหรือการบวชจักมีแก่เราในสถานที่นี้แหละ และแล้วเขาไม่บริโภคอาหารแม้หนึ่งมื้อ ไม่บริโภค
 อาหารแม้สองมื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้สามมื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้สี่มื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้ห้ามื้อ
 ไม่บริโภคอาหารแม้หกมื้อ ไม่บริโภคอาหารแม้เจ็ดมื้อ.
                       มารดาบิดาไม่อนุญาต
      [๑๒] จะอย่างไรก็ตาม มารดาบิดาของเขาได้กล่าวคำนี้ว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็น
 บุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนม
 ประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะ
 จาก เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า จงลุกขึ้น
 เถิด ลูกสุทินน์ จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญ
 อยู่เถิด เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.
      เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้แล้ว สุทินน์กลันทบุตรได้นิ่ง.
      แม้ครั้งที่สอง มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร
 คนเดียว เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงม
 มาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน
 เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า จงลุกขึ้นเถิดลูกสุทินน์
 จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด เราไม่อนุญาต
 ให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
      แม้ครั้งที่สอง สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง.
      แม้ครั้งที่สาม มารดาบิดาของเขาก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า ลูกสุทินน์ เจ้าเท่านั้นเป็นบุตร
 คนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบ
 ประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตายเราก็ไม่ปรารถนาจะจาก
 เหตุไฉน เราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า จงลุกขึ้นเถิด
 ลูกสุทินน์ จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่มรื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด
 เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.
      แม้ครั้งที่สาม สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง.
                       พวกสหายช่วยเจรจา
      [๑๓] ยิ่งกว่านั้น พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร ก็ได้เข้าไปหาสุทินน์กลันทบุตร
 ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า สุทินน์เพื่อนรัก เธอเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่
 พอใจของมารดาบิดา บิดาเป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วย
 ความสุข เธอไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เธอจะตามมารดาบิดาก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉน
 ท่านทั้งสองจักอนุญาตให้เธอผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า ลุกขึ้นเถิดสุทินน์
 เพื่อนรัก จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด
 มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.
      เมื่อขอกล่าวอย่างนี้แล้ว สุทินน์กลันทบุตรได้นิ่ง.
      แม้ครั้งที่สอง พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตรก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า สุทินน์เพื่อนรัก
 เธอเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่พอใจของมารดาบิดา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข
 อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เธอไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เธอจะตาย
 มารดาบิดา ก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนท่านทั้งสองจักอนุญาตให้เธอผู้ยังมีชีวิตอยู่ ออกจาก
 เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า ลุกขึ้นเถิดสุทินน์เพื่อนรัก จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง
 จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เธอออกจากเรือน
 บวชเป็นบรรพชิต.
      แม้ครั้งที่สอง สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง.
      แม้ครั้งที่สาม พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร ก็ได้กล่าวคำนี้กะเขาว่า สุทินน์เพื่อนรัก
 เธอเท่านั้นเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของมารดาบิดา เป็นผู้เจริญมาด้วยความสุข
 อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เธอไม่รู้จักความทุกข์สักน้อย แม้เธอจะตาย
 มารดาบิดาก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนท่านทั้งสองจักอนุญาตให้เธอผู้ยังมีชีวิตอยู่ ออกจาก
 เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า ลุกขึ้นเถิดสุทินน์เพื่อนรัก จงกิน จงดื่ม และจงรื่นเริง จง
 สมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญอยู่เถิด มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เธอออกจากเรือน
 บวชเป็นบรรพชิต.
      แม้ครั้งที่สาม สุทินน์กลันทบุตรก็ได้นิ่ง.
      เมื่อไม่สำเร็จ พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร จึงเข้าไปหามารดาบิดาของสุทินน์
 กลันทบุตร ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่มารดาบิดา สุทินน์นั่นนอนลงบนพื้นอันปราศจาก
 เครื่องลาด ด้วยตัดสินใจว่าการตายหรือการบวชจักมีแก่เรา ณ ที่นี้แหละ ถ้ามารดาบิดาไม่
 อนุญาตให้สุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ความตายจักมาถึง ณ ที่นั้นเอง ถ้าอนุญาต
 ให้สุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตก็จักได้เห็นเขาแม้ผู้บวชแล้ว ถ้าสุทินน์จักไม่ยินดีใน
 การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาจักมีทางดำเนินอื่นอะไรเล่า เขาจักกลับมา ณ ที่นี้แหละ
 ขอมารดาบิดาจงอนุญาตให้สุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด.
      อนุญาตจ้ะ ให้ลูกสุทินน์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มารดาบิดากล่าวยินยอม.
                      สุทินน์กลันทบุตรออกบวช
      [๑๔] ทันใดนั้น พวกสหายของสุทินน์กลันทบุตร เข้าไปหาสุทินน์กลันทบุตร แล้ว
 ได้บอกเขาว่า ลุกขึ้นเถิด สุทินน์เพื่อนรัก มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็น
 บรรพชิตแล้ว พอสุทินน์กลันทบุตรได้ทราบว่า มารดาบิดาอนุญาตให้ออกจากเรือนบวชเป็น
 บรรพชิตแล้ว ก็ร่าเริงดีใจ ลุกขึ้นลูบเนื้อลูบตัวด้วยฝ่ามือ ครั้นยาเยียกำลังอยู่สองสามวันแล้ว
 จึงเข้าไปสู่พุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เขานั่งเฝ้าอยู่
 อย่างนั้นแล ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าอันมารดาบิดาอนุญาตให้ออกจากเรือน
 บวชเป็นบรรพชิตแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ได้โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิดพระ-
 *พุทธเจ้าข้า.
      สุทินน์กลันทบุตรได้รับบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนักดังนี้ ก็แลเห็นท่านพระสุทินน์
 อุปสมบทแล้วไม่นาน ประพฤติสมาทานธุดงคคุณเห็นปานนี้ คือ เป็นผู้ถืออรัญญิกธุดงค์
 ปิณฑปาติกธุดงค์ ปังสุกูลิกธุดงค์ สปทานจาริกธุดงค์ พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง.
                        พระสุทินน์เยี่ยมสกุล
      [๑๕] ก็โดยสมัยนั้นแล วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มี
 กระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือ
 บาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้น ท่านพระสุทินน์ได้มีความคิดเห็นว่า เวลานี้วัชชีชนบทอัตคัด
 อาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุ-
 *สงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ก็แลญาติของเราในพระนคร
 เวสาลีมีมาก ล้วนเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์
 ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ
 แม้หมู่ญาติก็จักได้อาศัยเราให้ทานทำบุญ และภิกษุทั้งหลายก็จักได้ลาภ ทั้งเราก็จักไม่ลำบากด้วย
 บิณฑบาต ดั่งนั้น ท่านพระสุทินน์จึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวรหลีกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่
 พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีแล้ว ทราบว่า เธอพำนักอยู่
 ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.
      บรรดาญาติของท่านพระสุทินน์ ได้ทราบข่าวว่า พระสุทินน์กลันทบุตรกลับมาสู่พระนคร
 เวสาลีแล้ว จึงนำภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อไปถวายท่านพระสุทินน์ๆ สละภัตตาหารประมาณ
 ๖๐ หม้อนั้นถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วเช้าวันนั้นครองอันตรวาสกถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต
 ยังกลันทคาม เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในกลันทคาม ใกล้จะถึงเรือนบิดาของตน
 ก็พอดีทาสีของญาติท่านพระสุทินน์ กำลังมีความมุ่งหมายจะเทขนมสดที่ค้างคืน จึงท่านพระสุทินน์
 ได้กล่าวคำนี้กะนางว่า น้องหญิง ถ้าของนั้นมีอันจะต้องทิ้งเป็นธรรมดา ขอท่านจงเกลี่ยลงใน
 บาตรของเรานี้เถิด ขณะที่นางกำลังเกลี่ยขนมสดที่ค้างคืนนั้นลงในบาตร นางจำเค้ามือ เท้าและ
 เสียงของพระสุทินน์ได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านพระสุทินน์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะ
 มารดาของท่านว่า คุณนายเจ้าขา โปรดทราบ พระสุทินน์บุตรคุณนายกลับมาแล้วเจ้าค่ะ.
      แม่ทาสี ถ้าเจ้าพูดจริง เราจะปลดเจ้ามิให้เป็นทาสี มารดาท่านพระสุทินน์กล่าว.
      ขณะที่ท่านพระสุทินน์กำลังอาศัยพะไลเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมสดที่ค้างคืนนั้น พอดีบิดา
 ของท่านพระสุทินน์เดินกลับมาจากที่ทำงาน ได้แลเห็นท่านพระสุทินน์กำลังอาศัยพะไลเรือน
 แห่งหนึ่งฉันขนมสดที่ค้างคืนนั้นอยู่ จึงเดินเข้าไปหาท่านพระสุทินน์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้
 กะท่านว่า มีอยู่หรือ พ่อสุทินน์ นี่พ่อจักฉันขนมสดที่ค้างคืน พ่อสุทินน์ พ่อควรไปเรือน
 ของตนมิใช่หรือ.
      คุณโยม รูปได้ไปสู่เรือนของคุณโยมแล้ว ขนมสดที่ค้างคืนนี้ รูปได้มาแต่เรือนของ
 คุณโยม พระสุทินน์ตอบ.
      ทันใดนั้น บิดาของท่านพระสุทินน์จับแขนท่าน แล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านว่า มาเถิด
 พ่อสุทินน์ เราจักไปเรือนกัน.
      ลำดับนั้น ท่านพระสุทินน์ได้เดินตามเข้าไปสู่เรือนบิดาของตน ครั้นถึงแล้วนั่งบน
 อาสนะที่เขาจัดถวาย จึงบิดาของท่านได้กล่าวคำนี้กะท่านว่า จงฉันเถิดพ่อสุทินน์.
      อย่าเลยคุณโยม ภัตกิจในวันนี้ รูปทำเสร็จแล้ว พระสุทินน์กล่าวตอบ.
      บิดาอาราธนาว่า พ่อสุทินน์ ขอพ่อจงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด.
      ท่านพระสุทินน์รับนิมนต์โดยดุษณีภาพ และแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.
                         บิดาวิงวอนให้สึก
      [๑๖] ครั้งนั้นแล มารดาของท่านพระสุทินน์สั่งให้ไล้ทาพื้นแผ่นดินด้วยโคมัยสด ให้
 จัดทำกองทรัพย์ไว้สองกอง คือเงินกอง ๑ ทองกอง ๑ เป็นกองใหญ่ กระทั่งบุรุษยืนอยู่ข้างนี้
 ไม่แลเห็นบุรุษยืนอยู่ข้างโน้น บุรุษยืนอยู่ข้างโน้นก็ไม่แลเห็นบุรุษยืนอยู่ข้างนี้ ให้ปิดกองทรัพย์
 เหล่านั้นด้วยลำแพน ให้จัดอาสนะไว้ในท่ามกลาง ให้แวดวงด้วยม่าน เสร็จโดยล่วงราตรีนั้น
 แล้วเรียกปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์มาสั่งว่า ลูกหญิง เพราะลูกสุทินน์จะมา เจ้าจง
 แต่งกายด้วยเครื่องประดับ อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่พอใจ.
      อย่างนั้นเจ้าข้า นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์.
      ณ เวลาเช้าวันนั้นแล ท่านพระสุทินน์ครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่เรือน
 บิดาของตน แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย.
ลำดับนั้นแล บิดาของท่านพระสุทินน์เข้าไปหาท่านพระสุทินน์ ครั้นแล้วให้คนเปิด
 กองทรัพย์เหล่านั้นออก ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ นี้ทรัพย์ของมารดาพ่อ
 ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วนของปู่ต่างหาก พ่อ
 สุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์
 พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
      แม้ครั้งที่สอง บิดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์
 นี้ทรัพย์ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วน
 ของปู่ต่างหาก พ่อสุทินน์ พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ
 มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
      แม้ครั้งที่สาม บิดาของพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ นี้
 ทรัพย์ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วน
 ของปู่ต่างหาก พ่อสุทินน์ พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติ และบำเพ็ญบุญ
 มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      ท่านพระสุทินน์ตอบว่า คุณโยม รูปขอพูดกะคุณโยมบ้าง ถ้าคุณโยมไม่ตัดรอน.
      บ. พูดเถิด พ่อสุทินน์.
      สุ. คุณโยม ถ้าเช่นนั้น คุณโยมจงสั่งให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ๆ บรรจุเงินและทอง
 ให้เต็มบรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในกระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร
 เพราะความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี การเฝ้ารักษาก็ดี อันมี
 ทรัพย์นั้นเป็นเหตุ ที่จักเกิดแก่คุณโยมนั้น จักไม่มีแก่คุณโยมเลย.
      เมื่อท่านพระสุทินน์กล่าวอย่างนี้แล้ว บิดาของท่านได้มีความไม่พอใจว่า ไฉนลูกสุทินน์
 จึงได้พูดอย่างนี้ และแล้วได้เรียกปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์มาบอกว่า ลูกหญิง เพราะเจ้า
 เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง.
      ทันใดนั้น นางได้จับเท้าท่านพระสุทินน์ถามว่า ข้าแต่ลูกนาย นางอัปสร ผู้เป็นเหตุให้
 ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้น ชื่อเช่นไร?
      น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย พระสุทินน์
 ตอบ.
      บัดดล นางน้อยใจว่า สุทินน์ลูกนาย เรียกเราด้วยถ้อยคำว่า น้อยหญิง ในวันนี้
 เป็นครั้งแรก แล้วสลบล้มลงในที่นั้นเอง.
      ท่านพระสุทินน์ได้กล่าวคำนี้กะบิดาว่า คุณโยม ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มีอยู่ ก็จงให้เถิด
 อย่ารบกวนรูปเลย.
      ฉันเถิด พ่อสุทินน์ มารดาบิดาของท่านพระสุทินน์กล่าวดังนี้แล้ว ได้อังคาสท่าน
 พระสุทินน์ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตร และแล้วมารดาของ
 ท่านพระสุทินน์ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ผู้ฉันเสร็จ ลดมือจากบาตรแล้วว่า พ่อสุทินน์
 สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก
 มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญ
 บุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
      แม้ครั้งที่สอง มารดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์
 สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก
 มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญ
 บุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
      แม้ครั้งที่สาม มารดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์
 สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและมีเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก
 มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อสุทินน์ ดังนั้น พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้
 ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสีย.
      สุ. คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้.
      ม. พ่อสุทินน์ ก็เวลานี้พ่อพำนักอยู่ที่ไหน?
      ที่ป่ามหาวันจ้ะ ท่านพระสุทินน์ตอบ และแล้วได้ลุกจากอาสนะหลีกไป.
                         เสพเมถุนธรรม
      [๑๗] หลังจากนั้น มารดาของท่านพระสุทินน์สั่งกำชับปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์
 ว่า ลูกหญิง ถ้ากระนั้นเมื่อใดเจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าพึงบอกแก่แม่.
      นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์แล้ว ต่อมาไม่ช้านัก นางได้มีระดู ต่อมโลหิตได้
 เกิดขึ้นแก่นาง นางจึงได้แจ้งแก่มารดาของท่านพระสุทินน์ว่า ดิฉันมีระดู เจ้าค่ะ ต่อมโลหิตเกิดขึ้น
 แก่ดิฉันแล้ว.
      มารดาของท่านพระสุทินน์กล่าวว่า ลูกหญิง ถ้ากระนั้น เจ้าจงแต่งตัวด้วยเครื่องประดับ
 อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่พอใจ.
      จ้ะ คุณแม่ นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์แล้ว จึงมารดาพานางเข้าไปหาท่าน
 พระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน แล้วรำพันว่าพ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทอง
 และเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมา
 เป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็น
 คฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
      แม้ครั้งที่สอง มารดาของท่านพระสุทินน์ ก็ได้รำพันว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มี
 ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็น
 ทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด
 พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
      คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
      แม้ครั้งที่สาม มารดาของท่านพระสุทินน์ ก็ได้รำพันว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มี
 ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็น
 ทรัพยากรมาก พ่อสุทินน์ ดั่งนั้นพ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติ
 ของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสียเลย.
      คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้ ท่านพระสุทินน์ตอบแล้วจูงแขนปุราณทุติยิกาพาเข้าป่า
 มหาวัน เป็นผู้มีความเห็นว่าไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ จึงเสพเมถุนธรรมกับ
 ปุราณทุติยิกา ๓ ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์เพราะอัฌาจารนั้น.
                       เทพเจ้ากระจายเสียง
      [๑๘] เหล่าภุมเทพกระจายเสียงว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียดไม่มีโทษ
 พระสุทินน์กลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว เทพชั้นจาตุมหาราช ได้สดับเสียง
 เหล่าภุมเทพแล้วกระจายเสียงต่อไป เทพชั้นดาวดึงส์ เทพชั้นยามา เทพชั้นดุสิต เทพชั้น
 นิมมานรดี เทพชั้นปรนิมมิตวสวดี เทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียงแล้วกระจายเสียงกัน
 ต่อๆ ไปว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ พระสุทินน์กลันทบุตรก่อ
 เสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว โดยทันใดนั้น ครู่หนึ่งนั้น เสียงได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก
 ด้วยอาการอย่างนี้แล.
      สมัยต่อมา ปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์ อาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น คลอดบุตร
 แล้ว จึงพวกสหายของท่านพระสุทินน์ได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า พีชกะ ตั้งชื่อปูราณทุติยิกาของท่าน
 พระสุทินน์ว่า พีชกมาตา ตั้งชื่อท่านพระสุทินน์ว่า พีชกปิตา ภายหลังเขาทั้งสองได้ออกจาก
 เรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว.
                       พระสุทินน์เกิดวิปฏิสาร
      [๑๙] ครั้งนั้น ความรำคาญ ความเดือดร้อน ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภ
 ของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชใน
 พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้
 บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญนั้นแหละ เพราะความเดือดร้อนนั้นแหละ ท่านได้
 ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ
 มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาแล้ว.
      จึงบรรดาภิกษุที่เป็นสหายของท่านพระสุทินน์ ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า อาวุโส
 สุทินน์ เมื่อก่อนคุณเป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์สมบูรณ์ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง
 มีน้ำมีนวล บัดนี้ ดูคุณซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่ง
 ด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาอยู่ คุณจะไม่ยินดีประพฤติ
 พรหมจรรย์กระมังหนอ?
      อาวุโสทั้งหลาย ความจริง มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระสุทินน์ค้าน
 แล้วแถลงความจริงว่า เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกา
 ผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่ว
 แล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้
 แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ดังนี้.
      อาวุโส สุทินน์ จริง การที่คุณบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้
 แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตนั้น พอที่คุณจะรำคาญ
 พอที่คุณจะเดือดร้อน.
      อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด
 ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่
 เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลาย
 ความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อ
 ความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
      อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่ง
 ราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่ง
 อาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อ
 ความดับทุกข์ เพื่อนิพพานมิใช่หรือ?
      อาวุโส การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การ
 เพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอก
 ไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ?
      อาวุโส การกระทำของคุณนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
 หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั่น เป็นไปเพื่อ
 ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใส
 แล้ว.
      ภิกษุสหายเหล่านั้น ติเตียนท่านพระสุทินน์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ได้กราบทูลเนื้อ
 ความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                    ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
      [๒๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น
 ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระสุทินน์ว่า ดูกรสุทินน์ ข่าวว่าเธอ
 เสพเมถุนธรรม ในปุราณทุติยิกา จริงหรือ?
      ท่านพระสุทินน์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
 ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้
 แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า.
      ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่
 เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมี
 ความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิด
 เพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความ
 ไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
      ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อ
 เป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อ
 เป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับ
 แห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ?
      ดูกรโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม
 การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดย
 อเนกปริยาย มิใช่หรือ?
      ดูกรโมฆบุรุษ องค์กำเนิด อันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่า อันองค์
 กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่า
 ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอ
 สอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม
 ไม่ดีเลย.
      ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร?
      เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือ
 ความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้า
 แต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิด
 เข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
 นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ.
      ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้น มีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็น
 เรื่องของชาวบ้าน เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของ
 คนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็น
 อันมาก การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อ
 ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่
 เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
      พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระสุทินน์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ
 เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ
 คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ
 มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ
 ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่
 เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย
 อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
 เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด
 ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
 เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
 เพื่อถือตามพระวินัย ๑
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                          พระปฐมบัญญัติ
      ๑. ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
      ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
                        สุทินนภาณวาร จบ

เวรัญชกัณฑ์ : เรื่องเวรัญชพราหมณ์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑
ตอนที่ ๑
พระวินัยปิฎก เล่ม ๑
มหาวิภังค์ ปฐมภาค

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวรัญชกัณฑ์

เรื่องเวรัญชพราหมณ์

      [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์
 สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์
 ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล
 ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
 หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้ว
 อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ
 แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบ
 โลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็น
 ศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระ
 ผู้มีพระภาคแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด
 ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพ
 และมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ
 พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็น
 ปานนั้น เป็นความดี.
                  เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
      [๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับ
 พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ
 ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค
 ว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่
 ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้
 นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้
 ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย.
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน
 หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควร
 ลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญ
 บุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป.
      ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี
 ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคต
 ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก
 ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่า
 กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้
 ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว
 ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็น
 ธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่
 ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ
 ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการ
 ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการ
 ไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ
 ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความ
 ขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดม
 กล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้
 ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่ง
 สภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ
 ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้
 ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพ
 ที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่า
 กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้
 ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่า
 เป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดราก
 ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
 เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ
 ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง
 มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ
 ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้
 ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดราก
 ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
 เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคต
 ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีก
 ต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่า
 กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
                        ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
      [๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไก่
 เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลาย
 กะเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่
 ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.
      ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.
                    ทรงแสดงฌาน ๔ และวิชชา ๓
      ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง
 อันกะเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกะเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้
 ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก
 เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่
 กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
                            ปฐมฌาน
      เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
 มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.
                            ทุติยฌาน
      เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก
 ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.
                            ตติยฌาน
      เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
 ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.
                           จตุตถฌาน
      เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส
 ก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
                       บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร
 แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้น
 ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง
 สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง
 ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์
 เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร
 อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง
 เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น
 มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด
 อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น
 อันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เรา
 ได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืด
 เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
 เผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการ
 ทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น.
                          จุตูปปาตญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร
 แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติ
 ของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
 มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์
 ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
 ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่
 เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิด
 เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น
 สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตก
 กายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต
 มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อม
 รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้ว
 ในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว
 แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไป
 แล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะ
 ฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.
                          อาสวักขยญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควร
 แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัด
 ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความ
 ดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้
 อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้
 ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้
 หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ
 เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว
 พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์
 วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิด
 แก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท
 มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็น
 เหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.
                  เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
      [๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค
 ว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม
 ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดย
 อเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
 หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม
 พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
 ตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่
 จำพรรษา ที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด.
      พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับ
 อาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
 หลีกไป.
                     เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย
      [๕] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง
 มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการ
 ถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ มีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้
 เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่
 คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา
 เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่ง นำไปสู่อารามแล้วลงครก
 โขลกฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค
 พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว.
                         พระพุทธประเพณี
      พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี
 ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่ง
 ที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย
 ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถาม
 ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่
 พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.
      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ
 จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ดีละ
 ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลังจักดูหมิ่นข้าว
 สาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ.
                   พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท
      [๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง
 ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชา
 มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้อ
 อาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า
 พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวอ่อนฉะนั้น
 ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน
 พระพุทธเจ้าข้า.
      พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทำ
 อย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น?
      ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดิน
 เหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจะพึง
 ได้รับผลตรงกันข้าม.
      ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป พระ-
 *พุทธเจ้าข้า.
      ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น?
      ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่า
 พอใจเลย.
                เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน
      [๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิด
 ขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของ
 พระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ-
 *ภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปใน
 ที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มี
 พระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.
      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี
 พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระ
 นามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.
      ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี
 พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
      ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู
 ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ
 เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้ง
 สามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะ
 อันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
 เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึง
 ยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้น
 กระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้น
 เพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
 เหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน
 ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับ
 พลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรง
 กำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.
      ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม
 เวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณ
 พันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จง
 ทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลำดับนั้นแล
 จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรง
 สั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
 ในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่ง
 ยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.
      ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
 พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.
      ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ
 พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
      ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนาม
 กัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ
 เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน  อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มี
 พระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะ
 อันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
 เหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึง
 ดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บน
 พื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น
 ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาค
 พุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่
 ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้
 ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.
ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
 พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.
                   ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
      [๘] ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
 ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคต
 ถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้
 พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน.
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้
 กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลา
 ที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏ-
 *ฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดง
 ปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่
 ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อ
 เมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อม
 ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก
 เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ใน
 ศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็น
 หมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้
 เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรม
 เหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์
 ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และ
 อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติ-
 *สิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ดูกรสารีบุตร
 ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดา
 ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็น
 ผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
                     เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์
      [๙] ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
 ดูกรอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่
 จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลา
 เวรัญชพราหมณ์.
      ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า.
      ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็น
 ปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือ
 พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวาย
 บังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์รับสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์
 อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท.
      เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่
 จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทย-
 *ธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทย-
 *ธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์
 จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่
 ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
      พระผู้มีพระภาคทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์
 เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
      หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน
 โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่าน
 พระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
      ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ-
 *ดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย
 พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย-
 *โภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาค
 ผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละ
 สำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
 แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว
 เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมือง
 กัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงพระนครพาราณสี ครั้น
 พระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไป
 สู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับ
 อยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.
                        เวรัญชภาณวาร จบ.

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฏก

คัมภีร์ที่บันทึกหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนานั้นเรียกว่าพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะเป็นคัมภีร์ที่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกไว้  โดยมีกระบวนการสืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ในรูปแบบของการสังคายนา อย่างระมัดระวังและรัดกุมที่สุด การศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมจะต้องอาศัยคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นแกนกลาง  เพราะมีการจดจำและบันทึกสืบ ๆ กันมา  ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่  จนถึงการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑, , , , , ๖ มาตามลำดับ
หลักธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาได้มีการสืบทอดกันมาโดยมุขปาฐะ คือการท่องจำสืบๆ กันมา (Oral Tradition)  ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงมีการจารึกเป็นคัมภีร์ครั้งแรกเมื่อคราวสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.. ๔๕๐[1]   ในตอนต้นคือตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มิได้เรียกว่าพระไตรปิฎก แต่เรียกว่า พระธรรมวินัยบ้าง พระสัทธรรมบ้าง  สัตถุศาสน์ ฯลฯ แม้หลังพุทธปรินิพพาน ก็ยังไม่เรียกว่าพระไตรปิฎก คงเรียกว่า พระธรรมวินัย  เช่นการสังคายนาชำระคำสอน ครั้งที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ยังคงเรียกว่าสังคายนาพระธรรมวินัย  และได้เรียกว่า พระไตรปิฎกเมื่อ การสังคายนาครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.. ๔๕๐ ณ ประเทศศรีลังกา โดยได้จารึกลงในใบลาน ซึ่งได้แบ่งพระธรรมวินัยเป็น ๓ หมวด (หรือ ๓ ตระกร้า : ไตร แปลว่า สาม  ปิฎก แปลว่า ตระกร้า) จึงได้เรียกว่า พระไตรปิฎกตั้งแต่บัดนั้นมา คัมภีร์พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็น  ๓  หมวด   คือ
พระวินัยปิฎก   ได้แก่หมวดที่ว่าด้วยบทบัญญัติที่พระพุทธองค์ทรงห้ามแก่พระ พระภิกษุ  ภิกษุณี เรียกว่าพระวินัย
) พระสุตตันตปิฎก ได้แก่หมวดที่ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรง  แสดงแก่แก่บุคคลต่าง  ในสถานที่ต่าง ๆ   เรียกว่าพระสูตร
) พระอภิธรรมปิฎก ได้แก่หมวดที่ว่าด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ที่กล่าวถึงเรื่องปรมัตถ์  คือกล่าวถึงเรื่องจิต  เจตสิก   รูป  และนิพพาน  เรียกว่าพระอภิธรรม
การจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลานครั้งนั้น ถือเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาเถรวาทครั้งแรกที่เป็นลายลักษณ์อักษร [2]   และใช้เป็นคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนาเถรวาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน
                พระไตรปิฎก  คือคัมภีร์ชั้นปฐมภูมิของพุทธศาสนาเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จารึกหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนาไว้  โดยแบ่งเป็นหมวดเป็นหมู่  ดังนี้
                พระวินัยปิฎก  บทบัญญัติและกฎเกณฑ์ที่บัญญัติให้พระภิกษุ และภิกษุณีปฏิบัติตาม  หากมีการฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามความผิดนั้น ๆ  มีโทษสถานหนัก  ปานกลาง  และอย่างเบา   พระวินัยแบ่งออกเป็น  ๕  หมวด  คือ
                    .  มหาวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบท(ศีล) ของพระภิกษุ  ๒๒๗  ข้อ  คือ ปาราชิก ๔สังฆาทิเสส  ๑๓อนิยต  ๒นิสสัคคิยปาจิตตีย์  ๓๐ปาจิตตีย์  ๙๒ปาฏิเทสนียะ ๔เสขิยวัตร ๗๕อธิกรณสมถ ๗  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิกขาบทในปาติโมกข์ ( ภิกขุปาติโมกข์)
                   . ภิกขุณีวิภังค์ว่าด้วยสิกขาบทของนางภิกษุณี หรือภิกขุนีปาติโมกข์ ๓๑๑  สิกขาบท 
                   . มหาวรรค เล่าเรื่องตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เสด็จออกไปประกาศพระศาสนา  การประทานอุปสมบทแก่ผู้มาขอบวช พูดถึงการอุปสมบท อุโบสถ การจำพรรษา เครื่องหนัง เภสัช กฐิน จีวร  นิคหกรรม  การออกจากอาบัติ  การระงับอธิกรณ์  การทะเลาะวิวาท  และสามัคคี
                      . จุลวรรค ว่าด้วยการบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท  วัตรปฏิบัติต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์เรื่องกำเนิดและพัฒนาการของภิกษุณีสงฆ์ลงท้ายด้วยประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒
                    .  ปริวาร  ประมวลเรื่องเบ็ดเตล็ด  เกี่ยวกับสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี เป็นคู่มือศึกษาพระวินัย  นำเสนอโดยแต่งเป็นคำถามคำตอบเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

                พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร  เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่บุคคลต่างๆ หรือเทศนาของพระสาวก ที่แสดงไว้ประกอบด้วยบุคคล สถานที่  เวลา  ที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์นั้นๆ   พระสูตรแบ่งออกเป็น  ๕  หมวด  คือ
                  .  ทีฆนิกาย ได้แก่คัมภีร์หมวดที่รวบรวมพระสูตรที่มีเนื้อหาใจความยาวกว่านิกายอื่น  จัดเป็นหมวดหมู่เป็นเรื่องรวมเป็นนิกายแรก
                 .  มัชฌิมนิกาย ได้แก่คัมภีร์ที่รวบรวมพระสูตร ที่มีเนื้อหาใจความยาวขนาดกลาง ไม่สั้นหรือยาวเกินไป
                 . สังยุตตนิกาย  ได้แก่คัมภีร์หมวดที่รวบรวมพระสูตรที่มีเนื้อเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่  เป็นเรื่องเทวดา  ก็มีชื่อว่า เทวตาสังยุตต์  คือประมวลเรื่องเทวดา  เรื่องเกี่ยวกับป่าก็เป็นวนสังยุตต์ เป็นต้น
                 . อังคุตตรนิกาย  ได้แก่คัมภีร์หมวดที่รวบรวมพระสูตรที่กล่าวถึงธรรมที่เป็นหมวดจำนวนน้อยขึ้นไปตามลำดับ เช่น  ธรรมข้อเดียวก็เป็นเอกนิบาตธรรม  ๒  ข้อ  ก็เรียกทุกนิบาต  เป็นต้น
                 .  ขุททกนิกาย  ได้แก่คัมภีร์หมวดที่รวบรวมพระสูตรเล็ก ๆ  น้อย ๆ นอกเหนือจากนิกายทั้ง  ๘  ดังกล่าวมาแล้วทั้งหมดมารวมเป็นหมวดหมู่ไว้ในขุททกนิกายนี้ [3]
            พระอภิธรรมปิฎก    กล่าวถึงหลักธรรมที่เป็นธรรมะล้วน  และเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง   ไม่กล่าวถึงบุคคล  สถานที่  เวลา  สถานการณ์ใด ๆ    นอกจากธรรมะที่เป็นปรมัตถ์    พระอภิธรรมแบ่งออกเป็น  ๗  คัมภีร์  คือ
                    .  ธรรมสังคณี  ว่าด้วยการรวบรวมกลุ่มธรรมะ  คือจัดระเบียบธรรมต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่รวมเข้าเป็นหมวดหมู่  
                    .วิภังค์ ว่าด้วยการแยกแยะหรือวิเคราะห์ข้อธรรมที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ขันธ์ อายตนะ  ธาตุ  และอริยสัจ  เป็นต้น  แสดงให้เห็นรายละเอียดอย่างพิสดาร
                   .๓  ธาตุกถา  ว่าด้วยการจัดธรรมหรือสงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าเป็น ๑ ประเภท  คือ ขันธ์  อายตนะ ธาตุ  ว่าเข้ากันได้หรือไม่
                   .๔  ปุคคลบัญญัติ  ว่าด้วยการบัญญัติหรือกำหนดลักษณะบุคคลตามระดับคุณธรรมของบุคคลนั้น ๆ
                    .๕  กถาวัตถุ  ว่าด้วยเรื่องของถ้อยคำแถลงทรรศนะขัดแย้งของนิกายต่างๆ  ชี้ให้เห็นว่าทรรศนะที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร  โดยเน้นฝ่ายมติเถรวาทเป็นหลัก
                    .๖  ยมก ว่าด้วยการการจัดธรรมเป็นคู่ ๆ โดยการตั้งคำถามเพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง
                    .๗  ปัฏฐาน  ว่าด้วยการอธิบายเงื่อนไขทางธรรมหรือปัจจัยทั้ง ๒๔  อย่างว่ามีธรรมข้อใดเป็นปัจจัยกันและกันบ้าง[4]

ประวัติการสังคายนาครั้งที่ ๑ 
ภายหลังเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว  ปรากฎว่ามีพระมหาสาวกที่สำคัญยังคงมีชีวิตอยู่หลายรูป เช่น พระมหากัสสปะ, พระอนุรุทธ, พระอุปวาณะ. พระจุนทกะ, พระควัมปติ, พระกุมารกัสสปะ, พระอานนท์, พระมหากัจจายนะ, พระอุเทนะ เป็นต้น  ในบรรดาพระสงฆ์ทั้งหมด คาดว่าพระมหากัสสปะเป็นพระที่มีอายุพรรษามากกว่ารูปอื่น ๆ   ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสงฆ์ ในคราวสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก  เมื่อเสร็จงานการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วพระมหากัสสปะได้ปรารภแก่ที่ประชุมสงฆ์   ณ  เมืองกุสินารา  ถึงเรื่องการชำระสังคายนาพระธรรมวินัย  โดยอ้างเหตุ  ๓  ประการคือ
. พระมหากัสสปะได้ประสบกับเรื่องที่น่าสลดใจคือตอนที่ท่านกับคณะพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปพำนักอยู่ทีเมืองปาวา  เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๗ วัน  ก็ได้ทราบข่าวนั้นจากปริพาชกคนหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายต่างแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา  ท่านที่เป็นพระอริยบุคคลก็มีสติอดกลั้นและปลงสังขารได้  ส่วนพระที่เป็นปุถุชนต่างร้องให้คร่ำครวญประการต่าง ๆ  ขณะนั้นได้มีพระภิกษุเฒ่ารูปหนึ่ง ชื่อว่าพระสุภัททะ กล่าวถ้อยคำที่เป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนาด้วยถ้อยคำว่า  พวกเราพ้นจากสมณะนั้นแล้ว  เพราะเมื่อก่อนท่านได้เบียดเบียนเรา ด้วยการตักเตือนว่าสิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย  บัดนี้พวกเราสบายแล้ว  จะทำอะไรก็ได้  ไม่ทำอะไรก็ได้”  คำพูดของพระสุภัททะเฒ่า ถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบต่อพระศาสนาอย่างรุนแรง  ขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัย
. เพราะพระพุทธดำรัสที่รับสั่งแก่พระอานนท์เถระเจ้าว่าพระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์ในกาลที่พระองค์ล่วงลับไปแล้ว
เพราะรำลึกถึงพระคุณของพระศาสดา
ในการสังคายนาครั้งนั้น พระมหากัสสปะคัดเลือกเฉพาะแต่พระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทาและอภิญญาเท่านั้น  โดยมีพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน  ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา  เมืองราชคฤห์  แคว้นมคธ  โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธถวายความอุปถัมภ์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธานในการสังคายนา  มีพระอุบาลีตอบคำถามทางพระวินัย  พระอานนท์ตอบคำถามทางพระธรรม  โดยมีขั้นตอนการสังคายนา ดังนี้
ขั้นแรก สงฆ์แต่งตั้งหน้าที่ให้กับพระมหากัสสปะเป็นผู้ซักถาม  ให้พระอุบาลีและพระอานนท์เป็นผู้ตอบคำถาม  จากนั้นพระมหากัสสปะสอบถามพระวินัยแต่ละข้อกับพระอุบาลี  เมื่อพระอุบาลีตอบไปตามลำดับแล้ว  พระสงฆ์ที่ประชุมกันก็จะสวดพระวินัยข้อนั้นๆ พร้อมกัน  เมื่อสวดได้ตรงกันไม่ผิดพลาดแล้ว  สงฆ์ก็รับว่าถูกต้อง แล้วจึงถามข้ออื่น ๆ ต่อไป  ส่วนพระธรรมก็เช่นเดียวกัน  มีพระอานนท์เป็นผู้ตอบ
ในการสังคายนาครั้งนี้  ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน  จึงเสร็จ  หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้ว  พระอานนท์ได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า  พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว  จะพึงถอนสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้  เมื่อสงฆ์ต้องการ  (อากงฺขมาโน  อานนฺท  สงฺโฆ  มมจฺจเยน  ขุทฺทานุขุทฺทกานิ  สิกฺขาปทานิ  สมูหนตุ แต่พระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นมีอะไรบ้าง  สงฆ์ตำหนิพระอานนท์ที่ไม่ทูลถาม  สงฆ์จึงไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นคืออะไรบ้าง  พระมหากัสสปะจึงได้เสนอความคิดเห็นในที่ประชุมว่า
- สิกขาบททั้งหลายบางอย่างที่เกี่ยวกับชาวบ้าน  ชาวบ้านย่อมทราบว่าอะไรควร หรือไม่ควร  สำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย
- หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่าพวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย  ในขณะที่พระศาสดาทรงพระพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสดาปรินิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ
- ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าได้เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้  และอย่าได้บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้  สมาทานศึกษาตามที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น[5]
เมื่อสิ้นคำประกาศของพระมหากัสสปะแล้ว  ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นพ้องด้วย  จึงเป็นอันถือว่าแต่กาลบัดนั้นเป็นต้นไป    คณะสงฆ์ ( ที่เห็นด้วยกับพระมหากัสสปะจะไม่เพิกถอนสิกขาบทแม้สักเล็กน้อยเลย คณะสงฆ์คณะนี้จึงได้ปรากฏนามสืบต่อมาว่า คณะเถรวาท หรือสถวีรวาท  หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า วินัยวาที
จากพุทธดำรัสที่ตรัสอนุญาตให้สงฆ์สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ดังกล่าว  จึงทำให้มีการตีความกันไปต่างๆ ในหมู่สงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับมติสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ ๑  และถือเอาตามพระพุทธดำรัสดังกล่าว อันจะเพิกถอนสิกขาบทได้ในภายหลัง  อันเป็นจุดหนึ่งของการแตกแยกนิกาย
เมื่อสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑  สงฆ์ได้ใช้ภาษาบาลีหรือภาษามคธ เป็นภาษาในพระไตรปิฎก  คงเป็นเพราะเหตุผล  ๒ ประการ  คือ
                (เพราะการสังคายนาทำกันในแคว้นมคธ
                () ภาษามคธ ในสมัยนั้น เป็นภาษาที่มีอิทธิพลกว้างขวาง  และถือว่าพระพุทธองค์ก็ตรัสภาษาบาลีในการประกาศศาสนาด้วย จึงใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาในการจารึกพระไตรปิฎกเมื่อ พ.. ๔๕๐  ที่ประเทศศรีลังกา  ฝ่ายเถรวาทจึงใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาหลัก  เพราะถือว่าเป็นภาษาที่มีแบบแผน (ตันติภาษา) สามารถรักษาพระพุทธพจน์ไว้มิให้คลาดเคลื่อนส่วนทางฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่ใช้ในการจารึกพระไตรปิฎก
ประวัติการสังคายนาครั้งที่ ๒
หลังพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๑๐๐ ปี ได้มีพระภิกษุชาววัชชี  ซึ่งจำพรรษาอยู่ในเมืองไวศาลี  ได้ประพฤติผิดวินัย ๑๐ ประการ  โดยอ้างเหตุผลว่า  พระพุทธองค์ทรงตรัสอนุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้  จึงเพิกถอนสิกขาบท ๑๐ ข้อ คือ
. ห้ามภิกษุรับเองหรือให้ผู้อื่นรับซึ่งทองและเงินหรือยินดีในทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน
ห้ามฉันโภชนาหารที่ไม่ได้ทำวินัยกรรมไว้ก่อนเมื่อไปในละแวกบ้าน
ห้ามฉันของเคี้ยวของฉันในยามวิกาล
ห้ามเอาเกลือที่เก็บสะสมไว้ในเขาสัตว์ปนกับของฉันที่เป็นอาหาร
ห้ามฉันน้ำหมักอันมีสีน้ำแดง  ดั่งเท้านกพิราบ  แต่ยังไม่เป็นสุราน้ำเมา
ห้ามฉันโครสห้าอย่างในเวลาวิกาล
. ห้ามทำอุโบสถสังฆกรรมแก่ภิกษุผู้มาภายหลัง  ซึ่งได้เริ่มทำอุโบสถกรรมไปแล้ว หรือลุกไปเสียระหว่างกลางคัน
ห้ามทำอุโบสถกรรมต่างกันในอารามใหญ่มีเสมาแดนเดียวกัน
ห้ามใช้สันถัดอันไม่ได้ประมาณกำหนด ( คือผ้ารองนั่ง)
๑๐. ห้ามปฏิบัติตามพระอุปัชฌายจารย์ในขนบธรรมเนียมสืบกันมา
สิกขาบททั้ง ๑๐ ข้อนี้  พระภิกษุชาววัชชี  ล่วงละเมิดมานานแล้ว  ด้วยตกลงว่าเพิกถอนไปแล้ว  ชาวบ้านที่นั่นก็ยอมรับ  จึงมีการถวายเงินทองแก่พระภิกษุสงฆ์ได้ 
ต่อมาพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่าพระยสกากัณฑบุตร ชาวเมืองโกสัมพี ได้เดินทางไปยังเมืองไวศาลี  ได้เห็นพฤติกรรมของพระภิกษุชาววัชชีนำถาดมารับบริจาคเงินทองจากญาติโยม แล้วน้ำมาแบ่งกัน พระยสกากัณฑบุตรพยายามอธิบายให้ญาติโยมฟังจนเข้าใจตามพระวินัย  แต่สร้างความไม่พอใจให้กับพระภิกษุชาววัชชีเป็นอย่างมาก  ท่านเห็นว่าถ้าหากปล่อยไว้จะเกิดปัญหาภายหลัง โดยปรึกษาหาทางแก้ไขกับคณะสงฆ์    ในที่สุดพระเถระอรหันต์จากเมืองปาฐา ๖๐ รูป  จากแคว้นอวันตี และทักษิณาบถ  ๘๐ รูป   ได้ไปประชุมร่วมกับพระสาณสัมภูตวาสีและพระยสกากัณฑบุตร ณ อโหคังคบรรพต  มีมติว่าต้องมีการชำระให้เรียบร้อย  โดยตกลงให้ไปอาราธนาพระเรวตเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่ชำนาญในพระวินัยเป็นผู้ตัดสิน พระเรวตะวินิจฉัยว่า  การกระทำของพระภิกษุชาววัชชีนั้นผิดทุกข้อ  จึงตกลงร่วมกันจะจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้น
ฝ่ายพระวัชชีบุตรทราบข่าวการจัดการสังคายนา  จึงวิ่งเต้นหาเสียงเพื่อสนับสนุนฝ่ายตน  เพื่อให้มีเสียงชนะในที่ประชุม  โดยการให้สินบนแก่พระรูปอื่น ๆ และเข้าไปหาพระเรวตะ  เพื่อขอร้องให้สนับสนุน  แต่พระเรวตะไม่ยินยอม  พระวัชชีจึงเข้าไปเฝ้าทูลเท็จพระเจ้ากาฬาโศก  ว่ามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งจะแย่งวัดของพวกตน  ตอนแรกทรงหลงเชื่อ  แต่ตอนหลังทรงทราบเรื่องดี  จึงทรงเป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนาชำระอธิกรณ์ครั้งนี้
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สองจึงได้เริ่มขึ้น พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายมาประชุมกัน มีการยกเอาวัตถุ ๑๐ ประการ (สิกขาบท) มาถามทีละข้อจนจบ  ผลปรากฏว่าสงฆ์ตัดสินว่า วัตถุ ๑๐ ประการนั้นผิดวินัย โดยเสียงเป็นเอกฉันท์
จากนั้นพระเถระทั้งหลายจึงได้เริ่มสังคายนาพระธรรมวินัยตามแบบปฐมสังคายนา  การกระทำการสังคายนาครั้งนี้  กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงเสร็จ  มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป
ต่อจากนั้น ได้มีการสังคายนาครั้งที่ ๓, , , ๖ ตามลำดับ และในการสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่ประเทศศรีลังกา  ได้ทำการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เมื่อ พ.. ๔๕๐
คัมภีร์คือหนังสือที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเปรียบเสมือนคลังแห่งความรู้ที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษาทำความเข้าใจในคัมภีร์ต่างๆ  และคัมภีร์แต่ละเล่มนั้นมีคุณค่าทางด้านเนื้อหา  เพราะได้อธิบายคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้  โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของคัมภีร์เหล่านั้น   คัมภีร์ทางฝ่ายเถรวาทนั้น  มีลักษณะสำคัญคือเป็นคัมภีร์ที่อธิบายเนื้อหาในพระไตรปิฎกเป็นต้นแบบ  ต่อมาก็มีการเขียนคัมภีร์ขึ้นเพื่ออธิบายคัมภีร์นั้นๆ ตามลำดับ  เพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้งในเนื้อหามากขึ้น
*********************************




                9 บางแห่งว่า  พ.๔๓๓
                10 เหตุผลของการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเกรงว่าการถ่ายทอดโดยระบบท่องจำอาจจะเกิดความคลาดเลื่อนได้  เนื่องจากความจำของบุคคลลดลง 
[3] ลิ ขิต  ลิขิตานนท์วรรณคดีพุทธศาสนา  ( เอกสารโรเนียว  ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2530) หน้า  6 - 7
[4] แสง  จันทร์งาม, . และคณะพระไตรปิฎกสำหรับพระนวกะและพุทธศาสนิกชนทั่วไป  เล่ม 9  ( กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2539 ) หน้า 3
[5] พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ  ฐิตญาโณ). ประวัติพระพุทธศาสนา. .. 2536, หน้า 128.